ถือเป็นประเด็นร้อนในวงการฟุตบอลหลัง จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบันกล่าวว่า การจัดฟุตบอลโลกทุก 2 ปีจะช่วยลดปริมาณการเสียชีวิตของผู้อพยพชาวแอฟริกันที่ลี้ภัยข้ามทะเลมายังทวีปยุโรป
ไม่ต้องมีความรู้ทางเศรษฐกิจการเมืองก็พอจะมองออกว่านี่เป็นการจับแพะชนแกะครั้งใหญ่ของฟีฟ่า ที่จะผลักดันให้การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีเกิดขึ้นจริง แต่คุณสงสัยบ้างหรือไม่ว่า เหตุใดฟีฟ่าถึงกล้ายกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างต่อหน้าสภายุโรป การจัดฟุตบอลโลกบ่อยขึ้นมันช่วยแก้ปัญหาอันเรื้อรังเรื่องนี้ได้จริงหรือ ?
จะพาไปทำความเข้าใจกันว่า เหตุใดการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีถึงถูกนำมาโยงกับปัญหาผู้อพยพ ? แล้วมันแก้ปัญหานี้จริงได้หรือไม่ ? ทำไมถึงไม่มีใครซื้อหรือเชื่อคำพูดนี้ ? กับบทสรุปที่แสดงให้เห็นถึงความเหลวไหลของฟีฟ่าที่พยายามทำทุกทางเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
ฟุตบอลโลกปีละสองครั้ง เพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้คนทั่วโลก
ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างเป็นวงกว้างนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา หลัง จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบันเดินทางไปร่วมงานประชุมสภาฤดูหนาวประจำปี 2022 ของสภายุโรป องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศยุโรป ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง
ภายในการประชุมสภาฤดูหนาวครั้งดังกล่าว มีการอภิปรายถึงการทำงานของฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในยุโรป โดยเฉพาะในแง่มุมของธุรกิจและคุณค่าของกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้ยังจะมีการอภิปรายนโยบายการจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอลท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อินฟานติโน่ ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการกีฬาที่ได้รับโอกาสชี้แจงและอธิบายถึงความเป็นไปของวงการฟุตบอลในปัจจุบันต่อบรรดานักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนซึ่งนั่งฟังอยู่ในสภายุโรป โดย อินฟานติโน่ ได้ชี้แจงแผนงานของตนที่เรียกว่า “อนาคตของฟุตบอล” อันมีการดำเนินงานสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนให้ฟุตบอลโลกมาแข่งขันทุก 2 ปี จากเดิมที่แข่งขันทุก 4 ปี
“ผมเข้าใจว่าในทวีปยุโรป การแข่งขันฟุตบอลโลกจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองสัปดาห์อยู่แล้ว เพราะว่านักฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลกเล่นอยู่ในทวีปยุโรป เพราะฉะนั้นในทวีปยุโรปไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องเพิ่มความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้น” อินฟานติโน่ เปิดฉากข้อความที่เขาต้องการสื่อสารต่อสภายุโรป
“แต่ถ้าเราคิดถึงผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมถึงผู้คนส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปที่ไม่มีโอกาสเห็นนักเตะระดับสุดยอดหรือไม่มีส่วนร่วมกับการแข่งขันระดับสูงสุด เราจำเป็นต้องคิดว่าฟุตบอลสามารถนำสิ่งใดมามอบให้แก่พวกเขาได้บ้าง ซึ่งมันต้องมีความหมายมากกว่าแค่เรื่องของกีฬา”
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า อินฟานติโน่ พยายามผลักดันให้การแข่งขันฟุตบอลโลกจัดขึ้นทุกสองปีมาตั้งแต่ตอนที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานฟีฟ่า เมื่อปี 2016 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าผลประโยชน์มหาศาลที่ฟีฟ่าจะได้รับถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ อินฟานติโน่ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเดินหน้าการปฏิรูปฟุตบอลโลกอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีข้อความที่เขาสื่อสารกับสภายุโรปกลับปราศจากเรื่องของผลประโยชน์ในแง่ของธุรกิจที่วงการฟุตบอลจะได้รับ
อินฟานติโน่ เลือกจะชี้แจงว่า วงการฟุตบอลในปัจจุบันอยู่ในสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งกลุ่มคนที่รวยกระจุกคือบรรดาลีกชั้นนำในทวีปยุโรปที่ครอบครองนักเตะฝีเท้าดีและได้รับรายได้มหาศาลจากการแข่งขันฟุตบอลลีกที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ ขณะที่วงการฟุตบอลในภูมิภาคอื่นของโลกไม่มีโอกาสได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ในระดับนี้
“โอกาส” คือคำที่ อินฟานติโน่ เลือกใช้ในการอภิปรายครั้งนี้ เขาบ่งชี้ว่าหากการแข่งขันในระดับสูงไม่สามารถเข้าถึงได้ในระดับเดียวกันทั่วโลก นั่นหมายความว่าจะมีผู้คนอีกหลายภูมิภาคทั่วโลกที่ปราศจากการเข้าถึงโอกาสที่ควรจะได้รับ และการดำเนินงานของฟีฟ่าในปัจจุบันคือการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกผ่านกีฬาฟุตบอล โดย อินฟานติโน่ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ หากเขาสามารถจัดฟุตบอลโลกให้เกิดขึ้นทุกสองปี
“ฟุตบอลเป็นเรื่องของโอกาส เป็นเรื่องของความหวัง เป็นเรื่องของฟุตบอลทีมชาติ เราไม่สามารถพูดได้ว่าผู้คนทั่วโลกจะจ่ายเงินให้กับพวกเรา (วงการฟุตบอลยุโรป) แต่พวกเขาดูฟุตบอลของเราในทีวี เพราะฉะนั้นเราต้องดึงพวกเขาให้เข้ามามีส่วนร่วม” อินฟานติโน่ กำลังจะกล่าวประโยคเด็ดที่จะเป็นประเด็นไปทั่วโลกในไม่ช้า
“เราจำเป็นต้องหาทางออกเพื่อรวบรวมผู้คนทั่วโลกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเรา เพื่อมอบความหวังแก่ชาวแอฟริกัน พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดินทางข้ามทะเลเมอร์ดิเตอเรเนียนเพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งสุดท้ายมันเหมือนกับว่าพวกเขาเดินทางมาตายกลางทะเลเสียมากกว่า”
“เราจำเป็นต้องมอบโอกาส มอบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่พวกเขา ไม่ใช่จากการกุศล แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมีส่วนร่วมกับกีฬาฟุตบอล บางทีฟุตบอลโลกทุกสองปีอาจไม่ใช่คำตอบ แต่เรากำลังพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้”
ฟุตบอลโลกแก้ปัญหาผู้อพยพได้จริงหรือ ?
ทันทีที่คำพูดของประธานฟีฟ่าในการอภิปรายของสภายุโรปออกสู่สายตาสาธารณชน อินฟานติโน่ ถูกวิจารณ์จากทั่วทุกสารทิศแทบจะทันที โดยประโยคสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นเป้าโจมตีคือการหยิบยกเรื่องราวของผู้อพยพชาวแอฟริกันซึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อมาผลักดันให้โปรเจ็กต์ฟุตบอลของตนได้รับการยอมรับจากบรรดานักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในยุโรป
ก่อนอื่นคงต้องอธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า การอพยพของชาวแอฟริกันสู่ทวีปยุโรปถือเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกของภูมิภาคแห่งนี้มายาวนานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีหลังจากที่เกิดกระแส “ประชานิยมฝ่ายขวา” ในยุโรป ซึ่งมีเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2008 ที่นำไปสู่แนวคิดต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ จนเปิดทางให้แนวคิดชาตินิยมกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในยุโรป
ประชานิยมฝ่ายขวา จึงมีแนวคิดหลักคือการต่อต้านลัทธิโลกาภิวัตน์และความคิดหัวก้าวหน้าทั้งปวง โดยชูเรื่องวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและแนวคิดอนุรักษ์นิยมเป็นสำคัญ โดยใจความทั้งหมดคือการรักษาและปกป้องสิทธิของพลเมืองที่แท้จริงในชาติเอาไว้
ดังนั้นแล้วศัตรูที่ร้ายกาจของบุคคลผู้นิยมแนวคิดประชานิยมฝ่ายขวาจึงเป็น “ผู้อพยพจากต่างแดน” เพราะผู้อพยพเหล่านี้จะเข้ามาแย่งชิงสิทธิของชาวยุโรปที่แท้จริง แถมยังมีแนวโน้มจะเข้ามาปรับเปลี่ยนหรือลดทอนความสำคัญของวัฒนธรรมอันดีงามในชาติ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ อินฟานติโน่ จะโยงเรื่องผู้อพยพมาเป็นเหตุผลในแผนการพัฒนาวงการฟุตบอลยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าบรรดานักสิทธิมนุษยชนในสภายุโรป เพราะปัญหาผู้อพยพกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนถือเป็นของคู่กันกับทวีปยุโรป ซึ่งนำมาสู่การถกเถียงอย่างไม่จบสิ้นว่า
รัฐบาลยุโรปควรเปิดรับและปฏิบัติกับผู้อพยพในระดับไหนจึงจะเกิดความเหมาะสม เพราะแม้แต่ประเทศหัวก้าวหน้าที่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและคิดถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้งอย่าง เดนมาร์ก ยังมีท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อผู้อพยพในช่วงหลัง จนออกกฎหมายส่งผู้อพยพกลับบ้านในแอฟริกาหรือตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถูกวิจารณ์ไปทั่วโลก
หากโปรเจ็กต์จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทุกสองปีของอินฟานติโน่ สามารถยุติการข้ามทะเลของผู้อพยพได้จริง แน่นอนว่าหลายประเทศในทวีปยุโรปจะต้องเห็นดีเห็นงามไปกับฟีฟ่าอย่างแน่นอน เพราะท้ายที่สุดมันจะเป็นการยุติปัญหาที่เรื้อรังในยุโรปมานานกว่าสิบปีได้เสียที
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่า การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีไม่สามารถหยุดยั้งการอพยพสู่ทวีปยุโรปของชาวแอฟริกันตามที่ประธานฟีฟ่ากล่าวอ้าง และคำพูดของ อินฟานติโน่ มีไว้เพื่อหว่านล้อมให้แผนงานของเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในยุโรปเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือหรือมอบโอกาสให้แก่ชาวแอฟริกันตามที่เขาพยายามนำเสนอ
“อินฟานติโน่จะไปไกลถึงขนาดไหนเนี่ย ? การโยงความตายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อขายแผนการเพ้อฝัน ทำให้ผมหมดคำพูดไปเลย” โรนาน อีแวน ประธานเครือข่ายแฟนบอลยุโรป ทวิตหลังเห็นคำพูดของอินฟานติโน่
หากอยากเข้าใจว่าเหตุใด การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีจะไม่มีทางหยุดยั้งการอพยพสู่ทวีปยุโรปของชาวแอฟริกัน คงต้องพูดถึงคู่กรณีของ อินฟานติโน่ ที่ออกมาอภิปรายฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในยุโรป นั่นคือ ลอร์ด จอร์จ ฟอลคส์ หรือ บารอนฟอลคส์แห่งคัมนอค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสกอตแลนด์ ผู้ทำงานในสภาแห่งยุโรปมาตั้งแต่ปี 2003
ลอร์ด จอร์จ ฟอลคส์ ถือเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีความสำคัญในพรรคแรงงานของอังกฤษ และถือเป็นหนึ่งในขุนพลสำคัญของกระแส “พรรคแรงงานใหม่” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคแรงงานที่มีแนวคิดเอียงขวามากที่สุดคนหนึ่ง จากระบบเศรษฐกิจการเมือง ทางที่สาม ที่หันหลังให้แนวคิดฝ่ายซ้ายเดิมแล้วเปิดรับอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่
ดังนั้นแล้ว ลอร์ด ฟอลคส์ จึงไม่ใช่นักการเมืองอันเป็นที่รักของประชาชนระดับรากหญ้า เขาเคยมีประวัติชกต่อยกับตำรวจขณะมึนเมา และมีแนวคิดต่อต้านการแบ่งแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร แถมยังสนับสนุนการทำสงครามอิรักของกองทัพอังกฤษ
ทั้งยังเคยวิจารณ์ เจเรมี่ คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานในช่วงปี 2015-2020 โดยกล่าวอ้างว่า คอร์บิน ทำลายความสามัคคีของพรรค หลังผู้นำพรรคแรงงานคนดังกล่าวเลือกดึงนโยบายประชาธิปไตยสังคมนิยมเต็มรูปแบบมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี
สรุปคือ ลอร์ด ฟอลคส์ ถือเป็นนักการเมืองฝั่งซ้ายที่ขวามากที่สุดคนหนึ่ง นั่นหมายถึงเขาเป็นบุคคลที่สนับสนุนเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้ว ซึ่งดูเหมือนจะไปกันได้ดีกับแนวคิดสร้างโอกาสแก่ผู้คนทั่วโลกของอินฟานติโน่ อันเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ตัดสินใจคัดค้านการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี ซึ่งความจริงแล้ว ลอร์ด ฟอลคส์ เคยเป็นที่ปรึกษาแผนการปฏิรูปฟุตบอลของฟีฟ่าอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถอยห่างออกมาในช่วงปลายปี 2021
ลอร์ด ฟอลคส์ ได้ตั้งคำถามถึงความสมควรในการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี และยังเน้นย้ำให้ฟีฟ่าแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเนื่องจากผลกระทบของวงการกีฬา แทนจะเดินหน้าจัดการแข่งขันโดยใช้ “ความโลภ” เป็นที่ตั้ง ซึ่งประโยคหลังนี้สะท้อนเจตนาที่แท้จริงของการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี เพราะทุกแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยมใหม่ล้วนเอากำไรเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น
เมื่อบวกกับการละเลยจะแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศกาตาร์ของฟีฟ่า หลังเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ได้มีการใช้แรงงานผู้อพยพอย่างหนัก จนนำมาสู่การเสียชีวิตอันเป็นปริศนามากมาย ซึ่งรัฐบาลกาตาร์ได้ใช้อำนาจเพื่อไม่ให้มีการสอบสวนใด ๆ ทั้งสิ้น และทางฟีฟ่าก็ทำเป็นไม่รับรู้เรื่องดังกล่าว
การกระจายสิทธิเจ้าภาพฟุตบอลโลกไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลกถือเป็นแผนงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ เช่นเดียวกับ การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี และผลลัพธ์ได้แสดงให้เห็นอีกครั้ง เช่นเดียวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของ ต่อชาวอุยกูร์ในประเทศจีนว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่เปิดทางให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานผู้อพยพ
คำพูดของ อินฟานติโน่ จึงมีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก เพราะขณะที่เขาลั่นวาจาว่ากีฬาฟุตบอลจะช่วยให้ชาวแอฟริกันมีชีวิตที่ดีในบ้านเกิดจนไม่จำเป็นต้องอพยพมายุโรป ในประเทศกาตาร์กำลังเกิดการละเมิดสิทธิแรงงานผู้อพยพมากมาย ซึ่งเกิดจากการจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอลของฟีฟ่า สำคัญที่สุด ฟีฟ่า ไม่คิดจะลงมือแก้ปัญหานี้เลยด้วยซ้ำ เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกแนวคิดของฟีฟ่าได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมองกำไรเป็นที่ตั้งเท่านั้น
“ฟีฟ่าคือองค์กรมหาเศรษฐีพันล้านที่คิดแต่เรื่องการหากำไรเข้ากระเป๋า พวกเขามีเงินทุนมากพอจะลงทุนเพื่อสร้างสรรค์โอกาสและเติมแรงบันดาลใจให้กับแก่ผู้คนที่เสียเปรียบด้านโอกาสทั่วโลก” โทนี เบอร์เน็ต ประธานองค์กรการกุศล กล่าวโจมตี ฟีฟ่า ที่ใช้ผู้อพยพมาเป็นข้ออ้างในการผลักดันการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี
“เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เลยที่เขากล่าวอ้างว่าการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีจะช่วยเหลือผู้อพยพที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อมาหาชีวิตใหม่ ซึ่งบางครั้งพวกเขาแค่หนีภัยสงครามในประเทศ เพราะใจความหลักของแผนการนี้คือการเพิ่มกำไรให้ฟีฟ่าเท่านั้น”
แม้ อินฟานติโน่ จะออกมาชี้แจงคำพูดของเขาใหม่ในภายหลัง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของฟีฟ่า ที่มีต่อแฟนฟุตบอลทั่วโลก สำหรับการพยายามผลักดันการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีจนกล้าเอาชีวิตและความเป็นความตายของชาวแอฟริกันมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์อย่างยิ่ง
สิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันได้ตรงนี้คือ การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีจะไม่ช่วยเหลือปัญหาผู้อพยพที่เกิดในปัจจุบัน และมีโอกาสที่จะทำให้ปัญหาลุกลามเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ความโลภครอบงำฟีฟ่าจนพวกเขาเลือกที่จะพูดอะไรที่เข้าขั้น “เหลวไหล” ออกมา ซึ่งรอบนี้กลับกลายเป็นคำพูดของประธานฟีฟ่า บุคคลที่ควรจะเชื่อถือได้มากที่สุดในองค์กรเสียเอง
“เพื่อนของผมมากมายในฮิวแมนไรท์วอทช์มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้อพยพจากทั่วโลกแทบทุกวัน พวกเราเขียนรายงานเกี่ยวกับเหตุผลของการถูกทำร้าย ความยากลำบากที่ทำให้พวกเขาต้องจากบ้านเกิดมา พวกเขาไม่เคยกล่าวถึงช่วงเวลาในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว” แอนดรูว์ สโตรไลน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อภาคพื้นยุโรปของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวถึงความเหลวไหลของ ฟีฟ่าและ อินฟานติโน่ ได้อย่างตรงประเด็นที่สุด
UFABETWIN