“ริวัลโด้ เป็นยอดนักเตะที่มักถูกมองข้าม ผมเชื่อว่ามันเป็นเพราะเขาเล่นอยู่ในยุคเดียวกับ โรนัลโด้ และ โรนัลดินโญ่” รุด กุลลิต นักเตะระดับตำนานของเนเธอร์แลนด์กล่าว
เขาเป็นหนึ่งในสามประสานอันเกรียงไกรของ “3R” แห่งทีมชาติบราซิล เป็นเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์, นักเตะยอดเยี่ยมฟีฟ่า และคว้าแชมป์มากมายทั้ง ลาลีกา, ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก หรือแม้กระทั่ง แชมป์ฟุตบอลโลก
อย่างไรก็ดี เขากลับไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่แฟนบอลชาวบราซิล ที่ทั้งดูหมิ่นดูแคลน, เย้ยหยัน ไปจนถึงจงเกลียดจงชังอดีตนักเตะหมายเลข 1 ของโลกรายนี้
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เด็กหนุ่มที่ไม่กล้าฝัน
นักฟุตบอลกับความยากลำบาก เป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะได้ยินจากเรื่องเล่าของนักเตะบราซิล แต่สำหรับ ริวัลโด้ วิเตอร์ บอร์บา เฟร์เรรา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ริวัลโด้” มันอาจจะเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการ
เขาคือลูกคนกลางในจำนวนพี่น้องห้าคนที่เติบโตขึ้นมาในสลัมชานเมืองเรซิเฟ รัฐเปอร์นัมบูโก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล และต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ในทุกสุดสัปดาห์ ริวัลโด้ จะต้องตามพ่อแม่ไปรับจ้างตัดหญ้า ไปจนถึงเร่ขายหมากฝรั่งและไอศกรีมแท่งตามชายหาดของเมือง
“คุณต้องใช้ชีวิตอยู่กับความยากจน ถึงจะรู้ว่าความยากจนคืออะไร” ริวัลโด้ นิตยสารสัญชาติอาร์เจนตินา เมื่อปี 1999
“คุณต้องทำงานทั้งวันเพื่อรายได้อันน้อยนิด และต้องพบกับความหิวโซ, ความทรมาน ที่เปาลิสตา มันยากมากที่จะฝัน”
ครูของเขาบอกว่า ริวัลโด้ เป็นเด็กที่ค่อนข้างขี้กลัวและประหม่าทุกครั้งเมื่อถูกเรียกให้อ่านออกเสียง แต่ความประพฤติโดยรวมก็ยังดีกว่าพี่ชายทั้งสองคนของเขา
ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เขาค่อนข้างมั่นใจ นั่นก็คือ การเล่นฟุตบอล เขาชอบเล่นฟุตบอลเท้าเปล่ามาก โดยมี เปเล่ และ ดิเอโก มาราโดนา เป็นไอดอล ทั้งนี้ เพื่อนของเขาบอกว่า ริวัลโด้ เป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในกลุ่มเสมอ มีการครองบอลที่เหนียวแน่นและยิงประตูได้รุนแรง ทั้งที่มีรูปร่างผอมบาง
จนกระทั่งตอนอายุ 13 ปี ริวัลโด้ ก็ไม่ต้องเล่นฟุตบอลเท้าเปล่าอีกต่อไป เมื่อ โรมิลโด พ่อของเขาซื้อสตั๊ดคู่แรกให้ และหลังจากนั้น เขาก็พัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง จนถูก ซานตา ครูซ สโมสรในท้องถิ่นชวนไปทดสอบฝีเท้าในอีก 3 ปีต่อมา
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเขาจะถูกสาปให้เจอแต่ฝันร้าย เพราะก่อนผลการคัดตัวจะประกาศไม่กี่วัน พ่อของเขาก็มาประสบอุบัติเหตุถูกรถโดยสารประจำทางชนจนเสียชีวิต และความสูญเสียครั้งนี้ก็ทำให้เขาคิดเลิกเล่นฟุตบอล เพราะรู้สึกจำนนต่อโชคชะตาว่า ความสุขและความสำเร็จคงจะไม่ได้มีไว้สำหรับ “คนอย่างเขา”
แต่แม่ของ ริวัลโด้ รู้ดีว่าลูกชายของเธอรู้สึกอย่างไร เพราะเธอเองก็รู้สึกไม่ต่างกันกับความสูญเสียครั้งนี้ จึงได้นั่งลงและเปิดอกคุยกับเขาว่าจงเล่นฟุตบอลต่อไป อย่างน้อยก็ทำเพื่อพ่อที่ตายไป
“พ่อของแกไม่ได้อยากให้แกเป็นอะไรนอกจากนักฟุตบอลอาชีพ จงทำให้ได้” แม่ของริวัลโด้บอกกับเขา
และเขาก็ทำได้จริงๆ
เผชิญกับอคติ
หลังเสร็จสิ้นงานศพ ครอบครัวของ ริวัลโด้ ก็ได้รับข่าวดีบ้าง เมื่อการคัดตัวเป็นไปด้วยดี และริวัลโด้ก็ได้เป็นนักเตะเยาวชนของ ซานตา ครูซ ทว่านั่นก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะไม่นานความท้าทายใหม่ของเขาก็เริ่มต้นขึ้น
เนื่องจาก ซานตา ครูซ ไม่ใช่สโมสรใหญ่ ทำให้เขาได้เงินเพียงน้อยนิด แถมสนามซ้อมของทีมยังอยู่ห่างจากบ้านเขาถึง 15 กิโลเมตร ทำให้ ริวัลโด้ ต้องเดินไปกลับเป็นระยะทางรวมถึง 30 กิโลเมตรทุกวัน
เขามาถึงสนามซ้อมด้วยความเหนื่อยและกลับไปด้วยความเหนื่อย บวกกับร่างกายที่ผอมบางและฟันที่หลุดเกือบหมดปากจากภาวะขาดสารอาหารมาตั้งเด็ก ทำให้เขาดูอ่อนแอเกินกว่าจะเป็นนักเตะอาชีพได้
อย่างไรก็ตาม เขาไม่ยอมแพ้ เขามุ่งมั่นฝึกซ้อมจนได้รับโอกาสลงเล่นในเกมระดับอาชีพเป็นครั้งแรกในปี 1991 ในเกมลีกของรัฐ และทำผลงานได้ไม่เลว ด้วยการซัดไปถึง 8 ประตูจาก 18 นัด
ก่อนที่ในฤดูกาลต่อมา เขาจะได้ประเดิมสนามในเกมลีก แต่ด้วยผลงานที่ไม่คงเส้นคงวา บวกกับการที่ ซานตา ครูซ พลาดสิทธิ์เลื่อนชั้น ทำให้เขาตกเป็นแพะรับบาปว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของทีมในฤดูกาลนั้น จนถูกถีบหัวส่งไปอยู่กับ โมจิ มิริม ทีมในระดับ 2 ของลีกประจำรัฐเซา เปาโล
ทว่าการย้ายทีมครั้งนี้ก็ทำให้เขาเฉิดฉาย หลังถูก โครินเธียนส์ ยืมตัวไปอีกทอดหนึ่ง ด้วยการยิงไปถึง 22 ประตูจาก 58 นัด จนได้รับรางวัล หรือรางวัลแข้งยอดเยี่ยมแห่งปีตามตำแหน่ง (คล้ายกับติดทีมยอดเยี่ยม) พร้อมทั้งถูกเรียกติดทีมชาติ แถมยังประเดิมประตูแรกได้ทันทีในเกมพบกับเม็กซิโก
ผลงานดังกล่าวทำให้ในปี 1994 พัลไมรัส ตัดสินใจกระชากตัว ริวัลโด้ ไปรวมทัพ ก่อนที่เขาจะตอบแทนสโมสรด้วยการช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ซีรีส์ เอ ได้อย่างยิ่งใหญ่ และทำให้เขาได้รับรางวัล มานอนกอดอีกหนึ่งสมัย
แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากแฟนบอลเท่าที่ควร เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะอคติของคนบราซิลที่ไม่ค่อยให้การยกย่องนักเตะที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมองว่าพวกเขา “เชยและจน”
อคตินี้ทำให้พวกเขาแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติกับคนที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยถึงขั้นมีคำเรียกคนจากภูมิภาคนี้แบบเหมารวมว่าเป็นพวก “พาไรบาส” ที่แปลว่าคนที่มาจากรัฐพาไรบา ในนัยยะว่าพวก “บ้านนอก” โดยไม่สนใจว่าจริงๆพวกเขามาจากรัฐไหน
อันที่จริง ริวัลโด้ ก็เคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ว่าตัวเขาเองไม่ได้รับการปฏิบัติจากสื่อเหมือนกับนักเตะบราซิลที่มาจากรัฐทางใต้ที่เจริญกว่า แถมโค้ชหลายคนก็เลือกที่จะมองข้ามเขาหรือไม่ก็เรียกตัวมาติดทีมชุดแรก ก่อนจะตัดออกในภายหลัง ไปจนถึงถูกโยนให้เป็นแพะรับบาป
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือในฟุตบอลโลก 1994 ที่ตอนแรกเขาถูก คาร์ลอส อัลแบร์โต เปเรย์รา เรียกมาติดทีมในตอนแรก ก่อนจะตัดชื่อเขาออกในชุด 22 คนสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่าเขา “เห็นแก่ตัวเกินไป” และ “ไม่คงเส้นคงวา” ก่อนที่ทีมชุดนั้นจะคว้าแชมป์โลกในบั้นปลาย
หรือในฟุตบอลโอลิมปิก 1996 ที่แอตแลนตา ซึ่ง ริวัลโด้ กลายเป็นเป้าเล่นงานของแฟนบอล หลังเสียการครองบอลจนนำไปสู่ประตูตีตื้น 2-3 ของไนจีเรีย ก่อนจะถูกพลิกแซงเอาชนะไปได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วยกฏโกลเดนโกล
แม้ว่าจริงอยู่ที่การเสียการครองบอลครั้งนั้นจะทำให้โมเมนตัมของเกมเปลี่ยน แต่เขาก็ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบกับอีกสองประตูหลังจากนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ควรเป็นความรับผิดชอบของทั้งทีม ไม่ใช่ถูกเล่นงานอยู่คนเดียว
“เกมพบกับไนจีเรียนั้นช็อกทุกคน เพราะว่าพวกเราหวังว่าจะคว้าเหรียญทองกลับบ้าน” ลุยเซา อดีตเพื่อนร่วมทีม ริวัลโด้ ในทีมชุดนั้น
“โชคร้ายที่มันเป็นเกมที่ผิดไปจากที่คิดไว้ และทุกคนก็เศร้ามาก แต่ ริวัลโด้ นั้นเจ็บปวดมากกว่าใคร เพราะเขาถูกวิจารณ์เละเลย”
แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมแพ้
พิสูจน์ตัวเองในยุโรป
“ผมมีความทรงจำที่ค่อนข้างขมขื่นในตอนนั้น แต่มันก็ทำให้ผมได้เจอกับแรงกระตุ้นที่จะแสดงให้เห็นว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นมันไม่ยุติธรรมสำหรับผม” ริวัลโด้ กล่าวถึงเหตุการณ์ในโอลิมปิก 1996 กับ BBC
การดุด่าว่ากล่าวอย่างโหดร้ายทำให้ ริวัลโด้ รู้สึกพอแล้วกับการเล่นในบราซิล อันที่จริงเขาตั้งใจจะย้ายไปเล่นในต่างประเทศมาก่อน แต่ดีลต้องล้มไปเพราะคุยเรื่องสัญญาไม่ลงตัว ก่อนที่เหตุการณ์ในโอลิมปิกจะเป็นแรงผลักดันให้เขามุ่งมั่นที่จะออกจากบ้านเกิด
สุดท้ายกลายเป็น เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญา ทีมในลาลีกา สเปน ที่ได้สิทธิ์เป็นสโมสรแรกของเขาในยุโรป และเพียงแค่ปีเดียวที่นั่นเขาก็พิสูจน์ว่าเขาคือของจริง ด้วยการยิง 21 ประตูจาก 41 นัด และช่วยให้ทีมจบในตำแหน่งกลางตาราง
เขาโดดเด่นอย่างมากด้วยเทคนิคการทำประตูที่หลากหลาย แม้จะไม่ใช่ศูนย์หน้าโดยธรรมชาติ แต่ ริวัลโด้ ก็ยิงได้ทุกแบบ ทั้งลูกชาร์จจ่อๆ, ลูกโหม่ง, ฟรีคิกโค้งข้ามกำแพง ไปจนถึงจุดโทษแบบปาเนนก้าที่ในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีใครกล้าทำ
แต่สำหรับในบ้านเกิด ดูเหมือนว่าแสงจะยังไม่ฉายมาที่เขา เพราะแม้จะทำผลงานได้โดดเด่นเพียงใด แต่การเล่นให้กับ ลา คอรุนญา ก็ไม่ได้ทำให้เขาได้รับความสนใจจากชาวบราซิล เนื่องจากทีวีบราซิลเลือกที่จะโฟกัสกับ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า เท่านั้น
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ริวัลโด้ ตกปากรับคำย้ายไปเล่นให้กับบาร์ซ่าในฤดูกาลต่อมา ด้วยค่าตัวถึง 4,000 ล้านเปเซตา (ค่าเงินของสเปนในอดีต ปัจจุบันคือราว 24 ล้านยูโร หรือ 900 ล้านบาท) หลังจากนั้น เขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะเบอร์ใหญ่ของยุโรปและของโลกอย่างแท้จริง
ตลอด 5 ฤดูกาลในถิ่นคัมป์ นู ริวัลโด้ ซัดไป 129 ประตูจาก 235 นัด ช่วยให้บาร์ซ่าคว้าแชมป์ลาลีกา 2 สมัย, โคปา เดล เรย์ 1 สมัย, ยูฟา ซูเปอร์ คัพ 1 สมัย และก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลบัลลงดอร์ ในปี 1999 พ่วงด้วยนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าในปีเดียวกัน
ในปี 2001 เขายังถูกพูดถึงไปทั่วยุโรป หลังเหมาทำแฮตทริกในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลกับ บาเลนเซีย ใน 3 แบบ 3 สไตล์ ลูกแรกคือฟรีคิก, ลูกที่สองคือยิงไกล ส่วนลูกสุดท้ายคือการพักอกวอลเลย์โอเวอร์เฮดในนาทีสุดท้าย ช่วยให้ทีมคว้าชัยพร้อมได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นยูฟา แชมเปียนส์ ลีก
“การยิงประตูนั้นมันเหลือเชื่อ หนึ่งคือ มันเป็นประตูที่น่าทึ่ง เป็นลูกโอเวอร์เฮด สอง มันเกิดขึ้นในนาทีสุดท้ายตอนที่กำลังเสมอกัน และสาม มันทำให้เราได้ไปแชมเปียนส์ ลีก” ริวัลโด้ ย้อนความหลังถึงประตูนั้นกับ
“ผมเคยยิงประตูสวยๆมาก่อน แต่นี่คือประตูที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะว่ามันสำคัญ มันเป็นอะไรที่ผมไม่เคยเห็นอีกเลย”
แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้รับการยอมรับยามกลับไปเล่นให้กับทีมชาติ แฟนบอลชาวบราซิลมองว่าเขาทำผลงานได้ดีแค่ในสีเสื้อของบาร์ซ่า แถมบางครั้งยังโดนดูถูกเมื่อทำผิดพลาดตอนเล่นให้กับบราซิล
“เขาน่าจะรู้สึกภาคภูมิใจและได้เติมเต็มจากการลงเล่นให้กับประเทศ แต่ ริวัลโด้ มักจะสะท้อนออกมาเป็นความเศร้า” แมตต์ กัลต์ นักเขียนจาก
“เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการถูกกล่าวร้ายจากแฟนบอล เขาเลือกที่จะไม่ตอบคำถาม แต่ตอบโต้เชิงบวกในสนาม ด้วยสไตล์การเล่นแบบหุ่นยนต์นักฟุตบอล”
“ตอนที่ยังเด็ก ริวัลโด้ มีความฝันที่จะเล่นให้ทีมชาติบราซิล แต่การปรากฏตัวในชุดสีเหลืองอันโดดเด่นกลับกลายเป็นความทรมานและความโดดเดี่ยวในชีวิตนักเตะอาชีพของเขา”
“แฟนบอลมักจะเยาะเย้ยเขาตอนส่งบอลพลาด เยาะเย้ยตอนถูกปฏิเสธโอกาสการทำประตู หรือแม้แต่ตอนทำประตูได้เขาก็ยังถูกเยาะเย้ย”
“ถ้า จอห์น บาร์นส์ เป็นอัจฉริยะเท้าซ้ายคนแรกที่ถูกแฟนทีมชาติดูถูก แน่นอนว่า ริวัลโด้ ก็คงเป็นคนที่สอง”
ซ้ำร้ายในฟุตบอลโลก 2002 ยังทำให้เขาถูกโจมตีหนักกว่าเดิม
จอมมารยา
แม้ว่า ริวัลโด้ จะไม่ได้รับการเชิดชูจากแฟนบอลในบ้านเกิดมากนัก แต่เขาก็ถือเป็นกำลังสำคัญของทัพแซมบ้า ไม่ว่าจะเป็นการยิง 3 ประตูในฟุตบอลโลก 1998 ช่วยให้ทีมทะลุเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศและไปแพ้ฝรั่งเศสในบั้นปลาย หรือ 5 ประตูในโคปา อเมริกา 1999 ที่ช่วยให้บราซิลคว้าแชมป์ได้สำเร็จ
แต่ทัวร์นาเมนต์ที่โดดเด่นที่สุดของ ริวัลโด้ คือศึกเวิลด์คัพฉบับเอเชีย ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในปี 2002 ที่เขาเป็นหนึ่งในแนวรุกสุดโหดของบราซิลที่มีชื่อเรียกว่า “3R” ร่วมกับ โรนัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ เขาทั้งยิงทั้งจ่ายจนทำให้บราซิลก้าวขึ้นไปสู่แชมป์โลกสมัยที่ 5
ผลงาน 5 ประตูในฟุตบอลโลกยังทำให้เขาคว้ารางวัลรองเท้าเงิน ร่วมกับ มิโรสลาฟ โคลเซ ของเยอรมัน และติดทีมยอดเยี่ยมของฟีฟ่าในปีดังกล่าว และเป็นนักเตะที่ หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี กุนซือทีมชาติบราซิลชุดนั้นเอ่ยปากชม
“ผมพูดเสมอว่า ริวัลโด้ คือผู้เล่นที่ช่วยผมมากที่สุดในทีมชุดนั้น” สโคลารี่ กล่าว
“บางครั้งผู้คนก็ลืมแทคติกของทีม พวกเขาดูแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศหรือประตู แต่ ริวัลโด้ คือนักเตะที่ยอดเยี่ยมที่สุดของทีม”
อย่างไรก็ดี แทนที่ความสำเร็จในครั้งนี้จะทำให้ ริวัลโด้ ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง แต่เหตุการณ์ในเกมพบกับตุรกี ในนัดแรกของทัวร์นาเมนต์ กลับกลายเป็นจุดด่างพร้อยที่ทำให้เขาถูกเล่นงานไม่รู้จบ
มันเกิดขึ้นในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ขณะที่บราซิลนำอยู่ 2-1 และได้ลูกเตะมุม ริวัลโด้ พยายามถ่วงเวลาด้วยการไม่ยอมเอาบอลมาเตะ จน ฮาคาน อุนซาล หงุดหงิด จึงเตะบอลอัดไปโดนเข่าของเขา แต่ ริวัลโด้ กลับกุมไปที่ใบหน้าพร้อมกับร้องโอดโอย และนั่นทำให้นักเตะตุรกีถูกใบเหลืองที่ 2 ไล่ออกไป
จากจังหวะดังกล่าว ทำให้เขาถูกแฟนบอลทั่วโลก รวมถึงแฟนบอลบราซิลที่ไม่ชอบเขาเป็นทุนเดิมเย้ยหยันว่าเป็นพวกมารยา แสดงเก่งระดับออสการ์ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ทีมได้รับชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงน้ำใจนักกีฬา
“มันเป็นการแสดงที่น่ารังเกียจที่สมควรได้รับตำแหน่งเดียวกับเหตุการณ์ที่ โทนี ชูมัคเกอร์ ทำกับ พาทริค แบตติสตง ในปี 1982 หรือ แฮนด์ ออฟ ก็อด ในปีเดียวกัน” ริชาร์ด วิลเลียมส์ นักข่าวจาก กล่าวในบทความของเขา
มันกลายเป็นภาพจำติดตัวเขาว่าเป็นพวกขี้โกง บวกกับบุคลิกที่ดูหม่นหมองและปิดตัวเอง ทำให้เขาอยู่ห่างไกลจากความนิยม จนเป็นนักเตะที่ชาวบราซิลไม่รักไปอย่างน่าเศร้า จวบจนวันสุดท้ายในการเล่นให้ทีมชาติในปี 2003
ทิ้งไว้ข้างหลัง
อันที่จริง อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ริวัลโด้ ไม่ค่อยได้รับการเชิดชู อาจจะเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของเขา เขาเป็นคนพูดน้อยและขี้อาย แถมยังต้องเผชิญกับคำดูถูกมาตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้เขาเลือกที่จะไม่ตอบโต้หรือแก้ต่างภาพลักษณ์ของตัวเอง
“เขาเยือกเย็นและโฟกัสอยู่กับงานของตัวเอง เขาแค่ตั้งใจทำทุกวันให้ดีขึ้น” ซิเมา อดีตเพื่อนร่วมทีมบาร์เซโลน่ากล่าวกับ
“นอกสนามเขาเป็นคนขี้อายแต่ก็ใส่ใจคนอื่น ตอนที่เขาได้บัลลงดอร์ เขาถ่อมตัวในแบบของเขา เขาขอบคุณพวกเราเป็นรายบุคคลด้วยการมอบลูกบอลทองคำเล็กๆให้แก่พวกเราทุกคน”
นอกจากนี้ การที่เขาเติบโตขึ้นมาในยุคที่บราซิลมีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เต็มทีม โดยเฉพาะการมี โรนัลโด้ และ โรนัลดินโญ่ อยู่เคียงข้างในแนวรุก ยิ่งทำให้แสงที่ตกมาที่เขายิ่งน้อยลงจนไม่ได้รับการนับถือเท่าที่ควร
“ริวัลโด้ เป็นยอดนักเตะที่มักถูกมองข้าม ผมเชื่อว่ามันเป็นเพราะเขาเล่นอยู่ในยุคเดียวกับ โรนัลโด้ และ โรนัลดินโญ่” รุด กุลลิต กล่าวในบทความของ
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญอีกแล้ว ในวัยย่าง 50 ปี เขาเลือกที่จะทิ้งคำวิจารณ์ไว้ข้างหลัง และย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพื่อความสบายใจ โดยกลับไปบราซิลบ้างเป็นบางครั้ง
เพราะสำหรับเด็กด้อยโอกาสอย่างเขา ตอนนี้เขามาไกลมากแล้ว ไกลกว่าที่ตัวเองจะกล้าฝันเสียอีก
“ในฐานะเด็กจนๆ ความคิดที่ว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในโลก เป็นแชมป์โลกกับทีมชาติบราซิล ได้เล่นกับบาร์เซโลน่า ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย” ริวัลโด้
“ความฝันของผมคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพของ ซานตา ครูซ สำหรับผมแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว”
UFABETWIN