ทันทีที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีข่าวจะคว้าตัว อาเดรียง ราบิโอต์ ก็มีหลายคนออกมาบอกทันทีว่า “อย่า ๆๆๆ”
ไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถ แต่เพราะ ราบิโอต์ คือหนึ่งในนักเตะที่สร้างปัญหานอกสนามอยู่บ่อยครั้งโดยมีเอเยนต์ของเขาเป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลัง … ที่สำคัญคือเอเยนต์ผู้ดูแลผลประโยชน์ทุกอย่างก็คือ เวโรนิค ราบิโอต์ คุณแม่บังเกิดเกล้านั่นเอง
ขอนำเสนอเรื่องราวความเยอะของคุณแม่ ที่แม้จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้คุณลูก แต่ก็ทำให้ลูกชายต้องพลาดสิ่งดี ๆ ไปไม่น้อย
เพราะ (คิดว่า) รักชนะทุกอย่าง
อาเดรียง ราบิโอต์ ลืมตาดูโลกขึ้นมาก็ถูกปลูกฝังให้ชอบฟุตบอลตั้งแต่เริ่มจำความได้ มิเชล พ่อของเขาเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ตามเชียร์มานานหลายปี และหวังอยากจะให้ลูกชายไปอยู่ในจุดนั้นสักวัน ดังนั้นเมื่อลูกชายเริ่มรู้ความ มิเชลได้ตกลงกับเวโรนิคภรรยาของเขาเพื่อสานฝันที่เขาวาดไว้ นั่นคือการเริ่มลงทุนกับ อาเดรียง ราบิโอต์ ให้กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
หากเทียบกับเด็ก ๆ คนอื่น ราบิโอต์ เกิดมาในครอบครัวที่ดี แม้ไม่ได้ร่ำรวยมากแต่ก็ยังมีกินมีใช้ ครอบครัวของเขามีความสนิทสนมกันชนิดแนบแน่น ทุกก้าวที่เขาเดินจะได้รับการใส่ใจอย่างละเอียดยิบ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นไข่ในหินก็คงไม่ผิดนัก พ่อของเขาพาเขาไปเข้าศูนย์ฝึกของสโมสร เครเตย หลังจากนั้นฟุตบอลก็กลายเป็นเรื่องของครอบครัวนี้ไปโดยปริยาย
จะดีแค่ไหนหากเด็กคนหนึ่งมีสิ่งที่ชอบและได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากผู้ปกครอง พ่อของราบิโอต์ขับรถพาลูกชายไปส่งเรียนและรอรับกลับทุกวัน ขณะที่แม่ของเขาก็มีหน้าที่จัดการทุกอย่างในบ้านให้เรียบร้อย สร้างบรรยากาศให้ลูกชายพร้อมเป็นมืออาชีพอย่างที่สุด … นี่แหละชีวิตที่เขาเป็นและวิถีที่หล่อหลอมให้เขามีฝีเท้าดีกว่าเด็กรุ่นเดียวกันทุกคนในศูนย์ฝึกนั้น เรื่องนี้ถูกยืนยันโดย มาร์ติน มูแลง หนึ่งในทีมงานของเครเตย
“อาเดรียงเป็นนักเตะที่แปลกกว่าคนอื่น ๆ เขามีโลกส่วนตัวสูงแต่ก็เป็นคนมีอารมณ์ขัน ตลอดช่วงการสอนเราไม่เคยมีปัญหากับเขาเลย และเขาก็ไม่เคยบ่นเรื่องการฝึกรวมถึงเรื่องการเรียนเลยสักครั้ง เขาอาจจะดื้ออยู่บ้าง แต่ก็นั่นแหละ จะเอาอะไรกับเด็ก 8 ขวบ … นับตั้งแต่วันนั้นเขาก็เป็นคนโปรดของผมมาโดยตลอด” มูแลง ว่าไว้
ราบิโอต์อยู่ที่ศูนย์ฝึกดังกล่าวได้ 5 ปี แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เริ่มสร้างศูนย์ฝึกของตัวเองในช่วงปี 2008 ก็เริ่มนโยบายเฟ้นหาเด็กหนุ่มฝีเท้าดีจากทั่วยุโรปเพื่อดึงตัวเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกของพวกเขา กลุ่มแมวมองของ แมนฯ ซิตี้ ถูกส่งเข้ามาค้นหาเด็กในฝรั่งเศส โดยแมวมองคนที่เจอกับราบิโอต์ในวัยเด็กบอกว่า สิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าฝีเท้าคือเรื่องนิสัย แม้จะอายุน้อยแต่ราบิโอต์กลับมีความคิดความอ่านเหมือนกับผู้ใหญ่ วางตัวดี และมีมารยาท
“ราบิโอต์สุภาพและฉลาดมาก ตอนนั้นเขาเล่นในตำแหน่งปีกและตัวของเขาสูงกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน ความโดดเด่นที่แท้จริงของเขาคือเรื่องสภาพจิตใจ เขาวางตัวเป็น ให้เกียรติคนอื่น และรู้ว่าเวลาไหนควรแสดงออกอย่างไร นี่คือสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับเด็กอายุขนาดนั้น” แมวมองของ แมนฯ ซิตี้
เล่นเก่งด้วย ทัศนคติดีด้วย นี่คือสิ่งที่ทุกคนประทับใจในตัวราบิโอต์วัยเด็ก และพวกเขาพูดตรงกันแทบทุกคน เขาได้สัญญากับ แมนฯ ซิตี้ ตอนอายุ 13 ปีเมื่อปี 2008 ทว่าหลังจากนั้นเพียง 6 เดือนการเปลี่ยนแปลงในอาชีพนักฟุตบอลของราบิโอต์ก็เกิดขึ้น
มิเชล พ่อของราบิโอต์ล้มป่วยต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ราบิโอต์ที่สนิทกับพ่อมาก ๆ ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากจะปรับตัวและเตรียมรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ พ่อของเขาคอยดูแลและเป็นธุระเรื่องฟุตบอลให้เขามาตลอด แต่ตอนนี้พ่อทำไม่ได้แล้ว … และนั่นเป็นครั้งแรกที่ชื่อของ เวโรนิค ราบิโอต์ แม่ของเขาได้ปรากฏ
ดันจนถึงที่สุด
การอยู่ในสถานะอัมพาตทำให้มิเชลต้องถอยออกจากเรื่องการจัดการเรื่องฟุตบอลให้กับราบิโอต์ ซึ่งคนที่จะต้องเข้ามาดูแลหน้าที่นี้ต่อคือเวโรนิค … เราไม่รู้ว่าเธอเป็นคนที่มีนิสัยใจคอแบบไหน แต่เวโรนิคเคยอธิบายถึงตัวเองว่า “ฉันเป็นพวกเผด็จการ” กล่าวคือทุกสิ่งที่เธอสั่งจะต้องได้รับการตอบสนองจากลูกชาย เธอตั้งตัวเป็นเอเยนต์ของ อาเดรียง ราบิโอต์ และเป้าหมายเดียวที่เธอต้องการคือการให้เขาได้เป็นนักเตะอาชีพ อันเป็นความฝันของครอบครัวนี้
อย่างไรก็ตามความเป็นแม่กับความเป็นเอเยนต์นั้นค่อนข้างจะมีรายละเอียดที่ขัดกันพอสมควร แม้เป้าหมายจะตรงกันนั่นคือ “เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ราบิโอต์” แต่วิธีการนั้นแตกต่างออกไป เอเยนต์เป็นอาชีพที่จะทำให้คุณต้องโฟกัสกับฟุตบอลเพียงอย่างเดียวและจะต้องทำให้นักฟุตบอลได้มีโอกาสที่จะเติบโตในอาชีพการงานผ่านข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นมืออาชีพ
วันที่แม่ของราบิโอต์เข้ามา แม้เธอจะอยากให้ลูกชายได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ปัญหาคือวิธีการของเธอนั้นค่อนข้างจะเป็นไปในแบบที่ไม่เป็นทางการมากนัก นั่นคือทำให้สิ่งต่าง ๆ มันดูผิดเพี้ยนจากระบบเดิมที่หลายคนคุ้นชิน
หลังอยู่กับ แมนฯ ซิตี้ ได้ 6 เดือน เวโรนิคก็สร้างเรื่องทันที เธอขึ้นไฟต์กับผู้ดูแลทีมเยาวชนของ แมนฯ ซิตี้ เพราะต้องการดึงตัวราบิโอต์กลับไปที่ฝรั่งเศส เพราะเธอคิดว่า แมนฯ ซิตี้ มีข้อตกลงที่ไม่ดีพอสำหรับลูกชาย เนื่องจากสิ่งที่เธอต้องการคือ ราบิโอต์จะต้องได้รับการการันตีว่าจะได้สัญญารับอาชีพทันทีเมื่ออายุครบ 17 ปี … ซึ่ง แมนฯ ซิตี้ ไม่สามารถมอบให้ได้
เวโรนิคผิดหวังกับคำตอบนั้น เธอได้ร้องขอให้มีการยกเลิกสัญญาเพื่อจะได้พาราบิโอต์กลับไปยังฝรั่งเศส ในวัย 15 ปีราบิโอต์ก็ถูกดึงตัวเข้าสู่อคาเดมีของเปแอสเช เมื่อปี 2010 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาในปี 2012 ราบิโอต์ก็ถูกเรียกขึ้นไปสู่ทีมชุดใหญ่ของเปแอสเช ภายใต้การคุมทีมของ คาร์โล อันเชล็อตติ ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปีและได้สัญญาอาชีพตามที่แม่ของเขาต้องการ เรียกได้ว่าแม้จะใช้วิธีที่แตกต่างกับเอเยนต์อาชีพแต่เวโรนิคก็ทำสำเร็จตามเป้าด้วยการให้ลูกชายได้สัญญาอาชีพตอนอายุ 17 ปี
“ไม่ว่าจะแมวสีไหนแต่ขอให้จับหนูได้เป็นใช้ได้” วลีนี้ยังใช้ได้เสมอ ทว่าโลกความจริงมันเริ่มหลังจากนี้ต่างหาก เมื่อราบิโอต์ได้สัญญาอาชีพ นั่นหมายความว่าเขาจะต้องเป็นมืออาชีพเต็มตัว เด็ก ๆ หลายคนก็มีพ่อแม่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ในช่วงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่เมื่อถึงเวลาอันสมควรพวกเขาจะขยับสู่ระดับที่สูงกว่าด้วยการจ้างมืออาชีพมาดูแล
เราไม่รู้เลยว่าราบิโอต์คิดกับเรื่องนี้ยังไง แต่ที่แน่ ๆ แม่ของเขาไม่ยอมปล่อยหน้าที่เอเยนต์ให้ใครได้ครอบครองแม้วินาทีเดียว
ปัญหาของการไม่เป็นมืออาชีพ
เวโรนิคเริ่มสร้างปัญหาให้กับราบิโอต์ทันทีหลังจากที่ลูกชายของเธอขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของเปแอสเช อย่างไรก็ตามเวลาของมิเชลผู้เป็นพ่อก็เหลือไม่มากแล้ว ทางสโมสรจึงได้จัดเกมกระชับมิตรนัดพิเศษพบ โอแซร์ เพื่อเอาใจครอบครัวราบิโอต์ โดยเชิญมิเชลให้เข้ามาชมเกมที่ข้างสนามด้วยตัวเอง ซึ่งในเกมนั้นราบิโอต์ยิง 2 ประตู ก่อนถูกเปลี่ยนตัวออกให้มานั่งชมเกมกับพ่อของเขา
ทางเปแอสเชรู้ว่า ราบิโอต์ เป็นเพชรเม็ดงามที่ต้องรั้งไว้ให้ได้ กุนซืออย่าง อันเชล็อตติ ก็พยายามหาโอกาสให้เขาได้ลงเล่น และมีส่วนร่วมกับทีมชุดใหญ่ให้มากขึ้น อันเช่จึงเรียกตัวราบิโอต์มาเป็นหนึ่งในนักเตะที่มีชื่ออยู่ในทีมชุดเก็บตัวที่กรุงโดฮาประเทศกาตาร์ในช่วงพักเบรกหนีหนาว … แน่นอนว่าทุกฝ่ายหวังดี แต่เวโรนิคนั้นไม่เข้าใจ
เธอเรียกร้องให้สโมสรออกค่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายให้กับเธอในการไปกาตาร์ด้วย เธอตั้งใจจะไปจัดการเรื่องต่าง ๆ เหมือนเคย แต่นี่คือระดับมืออาชีพ เปแอสเชปฏิเสธ และนั่นทำให้เวโรนิคไม่พอใจมาก ๆ จนถึงขั้นอยากจะพาลูกชายของเธอย้ายทีมเลยทีเดียว
ราบิโอต์ไม่ได้บินไปโดฮาพร้อมกับทีม และแม่ของเขาก็สร้างเรื่องต่อทันที เธอเขียนจดหมายถึงผู้จัดการทั่วไปของสโมสรด้วยเนื้อความที่ว่า อยากให้สโมสรนั้นขายลูกชายของเธอออกจากทีมในตลาดเดือนมกราคมนี้ ซึ่งฝั่งเปแอสเชก็ตอบจดหมายไปกลับว่า
“การเลือกของคุณดูจะไม่เหมาะกับลูกชายของคุณ และไม่ได้ส่งผลดีต่อสโมสรด้วย เราขอย้ำอีกครั้งว่าสถานะของคุณคือลูกจ้างของอาเดรียงเท่านั้น” ช็อตนี้เหมือนเป็นการแหกหน้าเวโรนิคเลยก็ว่าได้ แต่อย่าคิดว่าเธอจะยอม เธอสไตรก์กลับด้วยการไม่ให้ลูกชายของเธอไปซ้อม และนั่นนำมาซึ่งการที่สโมสรต้องลงโทษทางวินัย นอกจากนี้เปแอสเชที่มีแผนจะใช้ราบิโอต์ก็ต้องโละแผนทิ้งแล้วส่งราบิโอต์ไปให้ ตูลูส ยืมตัวไปใช้งาน
เวโรนิคค่อนข้างโมโหกับการกระทำของสโมสร เธอร้องเรียนผ่านสื่อและบอกว่าสโมสรนั้นสองมาตรฐาน ปฏิบัติกับราบิโอต์ต่างกับนักเตะคนอื่น ๆ ในทีม กล่าวคือเขาโดนปรับเงินและโดนลงโทษบ่อยมาก ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะการก้าวก่ายของเวโรนิคนี่แหละ
เรื่องราวของเวโรนิคนั้นมีเยอะมาก และนั่นทำให้ราบิโอต์ที่ถูกวางตัวให้เป็นตัวหลักของเปแอสเชในอนาคตนั้นถูกมองในแง่ลบมากขึ้น กล่าวคือทุกครั้งที่ลูกชายของเธอจะต้องเจรจาต่อสัญญา เวโรนิคจะเข้ามาเป็นผู้มีส่วนตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้แบบ 100% และเธอย้ำว่าที่เธอทำก็เพราะมันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกชาย แต่แน่นอนว่าในโลกของมืออาชีพของชายใส่สูทในออฟฟิศไม่เป็นเช่นนั้น ทุกคนที่ได้เจรจากับเวโรนิคยืนยันเป็นเสียงเดียวกันถึงความ “เยอะ” และความ “ไม่คงที่” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้ตลอดเวลาแม้จะตกลงกันแล้วก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2014 ที่สัญญาของราบิโอต์จะเหลือ 1 ปี เวโรนิคถูกเชิญโดย วอลเตอร์ ซาบาตินี่ ผอ. กีฬาของ โรม่า เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการย้ายทีมของราบิโอต์ในอนาคต … เวโรนิคมาถึงที่แต่กลับเรียกร้องให้ทางโรม่าเอากุนซืออย่าง รูดี้ การ์เซีย เข้ามาพูดคุยด้วย เพราะต้องการความชัดเจนมากกว่าที่ได้รับ
“เรานัดกินอาหารกลางวันกัน ตอนแรกผมคุยกับอาเดรียงกับทางเปแอสเชและตกลงกันได้แล้ว แต่อยู่ ๆ เวโรนิคก็เข้ามา เธอคุยกับอาเดรียงบางประโยคที่ผมไม่รู้คำแปล แต่ผมก็พอจะเดาได้ เพราะหลังจากเธอพูดจบอาเดรียงก็บอกว่า ‘ผมอยากคุยกับผู้จัดการทีมมากกว่า’ คือตอนนั้นผมโมโหแล้วเดินออกมาเลย ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน … ผมรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเขาให้แม่เขาประจันหน้ากับโค้ชแบบนี้ อีกไม่นานเธอคงได้เข้าไปอยู่ในล็อกเกอร์รูมด้วย” ซาบาตินี่ กล่าว
ที่สุดแล้วราบิโอต์ก็ไม่ได้ย้ายทีม และเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งในตอนที่ราบิโอต์ใกล้จะหมดสัญญากับเปแอสเชในปี 2018 ตอนนั้นเปแอสเชประทับใจและอยากให้ราบิโอต์เป็นแกนหลักของทีมเพราะเจ้าตัวพัฒนามาได้เร็วมาก แต่ที่สุดแล้วเสียงกระซิบจากข้างหูก็บอกว่า “เราจะไม่ต่อสัญญา เราจะอยู่จนครบสัญญาแล้วย้ายออกไปแบบฟรี ๆ”
เวโรนิคเดินหน้าท้าชนเพราะเธอคิดว่าลูกชายคนนี้จะได้ค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อพอ ๆ กับสตาร์คนอื่น ๆ ในทีม นอกจากนี้เธอยังอยากจะเจรจาแต่กับ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี่ ประธานสโมสรคนเดียวเท่านั้นโดยจะไม่คุยกับคนที่ตำแหน่งตํ่ากว่านี้
นั่นเป็นอีกครั้งที่เปแอสเชโมโหกับการก้าวก่ายครั้งนี้ พวกเขาถอดชื่อราบิโอต์ออกจากทีมชุดแชมเปี้ยนส์ลีกและไม่ส่งเขาลงสนามเลยหลังจากนั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายสุด ๆ เพราะราบิโอต์กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แทนที่จะได้ลงสนามต่อเนื่องเขากลับต้องไปซ้อมกับทีมสำรอง และต้องมีปัญหากับทีมงานของสโมสรที่เหนื่อยหน่ายในการจะคุยกับเขาแต่ละครั้ง เพราะมันต้องทำผ่านตัวแทนของเขาอย่างเวโรนิค 100%
“เวโรนิคมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของราบิโอต์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ช่วยคิดแต่เป็นคนใส่ชุดความคิดให้เลยด้วยซ้ำ เธอยัดเยียดความคิดของตัวเองให้กับเขา และอิทธิพลของเธอก็อยู่เหนือกว่าทุก ๆ สิ่งที่ราบิโอต์คิดทั้งหมด” โดมินิค เซเวอรัค ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของเปแอสเช บ่นกับสื่อ เลอ ปาริเซียง
ว่ากันว่าการเข้ามามีบทบาทของเวโรนิคทำให้ราบิโอต์ไปได้ไม่สุดและพลาดโอกาสสำคัญอะไรหลาย ๆ ที่เขาควรจะได้รับ อย่างน้อย ๆ ก็การได้ชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2018 ที่อยู่ดี ๆ ราบิโอต์ก็ถอนตัวจากทีมชาติเพราะมองว่าการที่ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ กุนซือของทีมเรียกเขาไปในฐานะ “ตัวสแตนด์บาย” คือการดูถูกกัน ราบิโอต์จึงปฏิเสธและขอเลือกถอนตัว พร้อมเผยมุมมองของตัวเองว่า
“ตั้งแต่การถูกเรียกตัวครั้งแรกในฐานะตัวสำรองในเดือนพฤษภาคม 2016 ผมก็เล่นให้กับสโมสรของผมที่เป็นสโมสรยุโรปที่ยิ่งใหญ่ไปทั้งสิ้น 88 เกม รวมทั้ง 13 เกมในแชมเปี้ยนส์ลีก ทำไป 7 ประตู และผมก็คว้าแชมป์มา 7 รายการแล้ว ถ้าผมตัดสินใจถอนตัวจากลิสต์ของตัวสแตนด์บายมันก็เพราะผมพิจารณาแล้วว่าตัวเลือกของโค้ชที่มีต่อผมไม่ตอบโจทย์ต่อตรรกะทางด้านกีฬาใด ๆ เลย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าฟอร์มการเล่นในสโมสรเป็นการเปิดประตูสู่ทีมชาติ” ราบิโอต์ อธิบาย
หลังจากฟุตบอลโลกจบลงและฝรั่งเศสคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ราบิโอต์ก็กลายเป็นคนที่แฟนบอลหันหลังให้เสมอ ไม่ว่าจะแฟนบอลของเปแอสเชหรือทีมชาติฝรั่งเศส โดยในเกมที่เปแอสเชเจอกับ ออร์เลอองส์ แฟนบอลเปแอสเชได้เขียนป้ายผ้าว่า “เราไม่ต้องการราบิโอต์” และหลังจากนั้นไม่นานราบิโอต์ก็โดนดรอปเป็นตัวสำรองเนื่องจากมีทัศนคติการเล่นที่ไม่ดีนักและไม่ยอมปรับตัวกับระบบการเล่นของทีมในยุค โทมัส ทูเคิล แถมยังมีปัญหาด้านวินัย แอบไปเที่ยวผับหลังเกมแพ้ แมนฯ ยูไนเต็ด จนตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายแชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2018-19 อีกด้วย
หลายคนมองว่าเขาพยายามกดดันสโมสรเพื่อจะขอสัญญาใหม่ แต่เมื่อได้ข้อเสนอที่ไม่น่าพอใจก็เล่นแง่พยายามทำตัวให้มีปัญหา จนกระทั่งตัวเองโดนดรอปไปเล่นกับทีมสำรองเพื่อเป็นการลงโทษ และหลังจากนั้นไม่นานเวโรนิคก็แฉสโมสรถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ลูกชายของฉันเป็นตัวประกันของสโมสร ในไม่ช้าเขาจะอยู่ในคุกใต้ดินโดยได้กินแต่ขนมปังและน้ำ”
การพูดแบบนี้กับสื่อทำให้ราบิโอต์และเปแอสเชถึงคราวแตกหักจนสัญญาฉบับใหม่ไม่เกิดขึ้น และเขาก็ได้ย้ายไปอยู่กับ ยูเวนตุส ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา จนถึงปี 2022 ที่สัญญาของเขาเหลือแค่ปีเดียว และข่าวการย้ายทีมตลอดจนความเรื่องมากของคุณแม่ก็กลับมาอีกครั้ง
ยังมีเรื่องราวความเยอะของ เวโรนิค ราบิโอต์ อีกมากที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชีพนักเตะของ อาเดรียง ราบิโอต์ เธอคือคนที่ตัดสินทุกอย่าง แม้ว่าตอนนี้ลูกชายจะอายุ 27 ปีแล้วก็ตาม แถมยังเคยเปิดศึกด่ากราดใส่ครอบครัวของ ปอล ป็อกบา และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ แบบซึ่ง ๆ หน้า หลังเห็นทีมชาติฝรั่งเศสตกรอบยูโร 2020 ขณะที่ราบิโอต์ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เคยขัดใจผู้เป็นแม่ และพร้อมจะผันตัวเป็นนักเตะสายบวกอยู่ตลอด
เรื่องเหล่านี้ทำให้ราบิโอต์พลาดอะไรไปหลายอย่าง และตอนนี้แม้แต่ตำแหน่งตัวจริงในยูเวนตุสก็ยังไม่ใช่ของเขา … หากย้อนกลับไปได้ สมมุติว่าเขาได้ตั้งใจเล่นฟุตบอลโดยไม่ต้องมาเสียเวลาแก้ข่าวหรือต่อว่าใครผ่านสื่อแทบทุกสัปดาห์แบบนี้ ราบิโอต์อาจจะประดับยศแชมป์โลกและประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็เป็นได้